CSS3 เพื่ออะไร?

CSS3 เริ่มเขียนเริ่มใช้กันได้แล้ว หาซื้อได้ตามร้านโชวห่วยทั่วไป แต่ อะไรกันแค่เพียง CSS1 กับ CSS2-2.1 ยังเขียนไม่หวาดไม่ไหว จะจู่โจมสู่ไตรภาคกันแล้วหรือ ค่อยๆ เขียนค่อยๆ เพิ่มกันไป จะให้ผมมาเขียนเชียร์แบบบ้าพลัง

กลับมาหา CSS

ถือได้ว่าเราห่างหายจากการเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับ CSS อย่างเดียวโดยตรงไปนาน เพราะทั้งผม (พร อันทะ) และ รดิส (radiz) ต่างพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของทุกๆ ท่านไปที่เรื่อง Semantic web, Web Standards และเรื่อง XHTML นานพอสมควร ไม่ใช่ว่าพวกเราจะเลิกสนับสนุนหรือแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ CSS กันแล้ว แต่เพียงแค่หันไปบอกเล่าเรื่องที่มันสำคัญมากยิ่งกว่า CSS แค่ชั่วคราวแค่นั้นเองครับ เพียงเพราะแค่อยากให้เข้าใจเรื่องราวของการเขียนเว็บตรงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระนั้นก็ยังหวั่นๆ ว่ามันจะไปทางเดียวกันได้หรือไม่ ต้องรอดู

มาถึงตอนนี้ ผมคงเริ่มที่จะกลับเข้ามาหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ CSS มากยิ่งขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของเวลา แต่คงเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะต้องเขียน CSS ให้รองรับในฉบับของ Semantic Web

สงครามบราวเซอร์ จุดเริ่มต้นของจุดจบ

หลายคนคงได้ยินข่าวเรื่อง IE8 ที่กำลังจะออกมาในเร็ววันนี้ กับคำประกาศที่บอกว่าจะทำให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่ W3C กำหนดทุกประการ (บราวเซอร์ก็มีมาตรฐานกลางจาก W3C กำหนดเหมือนกันครับ) และรองรับ CSS3 รวมทั้ง CSS2 ที่ IE7 ยังตกค้างด้วย ถือเป็นข่าวดีที่สุดอีกข่าวหนึ่งของคนที่เขียนเว็บอิงมาตรฐาน แต่ สิ่งที่หลายคนกลัวก็คือ เมื่อ IE8 เข้าสู่มาตรฐาน มันก็ต้องเรนเดอร์หน้าเว็บแล้วแสดงผลเหมือนกับ Firefox, Opera หรือ Safariหนะสิ คำตอบคือ ใช่แล้วครับ คล้ายกันในมาตรฐาน แล้วเว็บที่เขียนไม่ได้มาตรฐานที่ยังแสดงผลบูดๆ เบี้ยวๆ ใน Firefox, Opera หรือ Safari ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้หละ พอเราเอา IE8 เปิดเข้าดู หน้าเว็บมันจะไม่เละเหมือนกันหรือ คำตอบที่ผมคาดเดา ก็คงเป็นคำว่า ใช่ครับ ผมคิดว่า IE8 จะแสดงผลคล้ายๆ โมเดิร์นบราวเซอร์อื่นทั่วไป

อย่ากลัวไปเลย เราจะใช้ IE6 กันจนตราบชั่วฟ้าดินสลาย ผมสัญญา

ผมจะขอเป็นหัวหอก นำกลุ่มประท้วงไม่ให้ไมโครซอฟท์ ปล่อย IE8 ออกมา เดี๋ยวมันจะทำให้หน้าเว็บของเราพัง

หึหึ…

แทบไม่ต้องคิดเลยว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากไออีแปดออกมาแล้ว หลายๆ เว็บจะเป็นยังไง แต่ก็ช่างมันเหอะ เราใช้ IE6

CSS3 เตรียมพร้อม เมื่อทุกอย่างพร้อม

“From the 43 selectors 43 have passed, 0 are buggy and 0 are unsupported (Passed 578 out of 578 tests)” นั่นคือผลการทดสอบการเร็นเดอร์ชุดคำสั่ง CSS3 ของ Opera 9.50 beta ทุกอย่างผ่านฉลุย แต่สำหรับ Firefox 3 beta มีบั๊กและยังไม่รองรับบ้าง พอประมาณ โดยเพาะในหมวดของ Structural pseudo-classes เช่น :nth-last-child() แต่คาดว่าแถวๆ นี้คงยังคิดไม่พบกันว่ามันคืออะไร เพราะปั่นแค่เพียง Class กับ ID ก็มึนกันไปแล้ว

แต่ผมเชื่อว่า สำหรับตัวเต็มของ Firefox 3 คงผ่านฉลุยสำหรับ CSS3 ส่วน Internet Explorer 8 รวมทั้ง Safari คงใช้เวลาอีกไม่นานในการจับ Module ยัดลงไป แต่สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมและย้ำเตือน สำหรับการเขียน CSS ระลอกใหม่นี้ ก็คือเรื่องของการทำความเข้าใจ Selector เพราะตอนนี้ เท่าที่เห็น เรามุ่งไปให้ความสำคัญกับ Class และ ID เกินไป ก็เลยกลายเป็นคลาสกระจายในบางครั้ง (หรือเป็นเพียงเพราะผมเข้าใจไปเองเนี่ย) จากนี้ไปผมคงจะหันเข้ามาพูดเรื่องของ CSS มากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจในเรื่องของ Selector ทั้ง CSS2 ที่ยังขาดหาย และ CSS3 ที่กำลังจะเข้ามา

มีความสุขตามอัตภาพบ้าง จะเป็นไรไป อย่างน้อยชีวิตนี้ เราก็ไม่ได้ทุกข์ไปซะหมด

Back to Top

0 Responses to CSS3 เพื่ออะไร?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to Top