ความเปลี่ยนแปลง

ผมไม่ได้ดูทีวีนานแล้ว ไม่ได้ดูในที่นี้หมายถึงไม่ได้ดูจริงๆ จังๆ และไม่ได้เป็นรายกายการทีวี อาจจะนับชั่วโมงได้เลย ถ้านับเอาแบบผ่านๆ ผมหันหลังให้ทีวีไปตั้งแต่ต้นปี 2550 เสพข่าวสารบ้านเมืองจากสื่อทางอินเทอร์เน็ตแทน แต่สิ่งที่ผมขาดไม่ได้คือหนังสือและนิตยสารที่ผมต้องอ่านประจำ

ผมยังรู้สึกว่าตัวหนังสือบนกระดาษ ที่ถูกกลั่นกลองออกมาจากคนทำงานสู่คนเสพงานจริงๆ แล้วเราสามารถจินตนาการต่อจากตัวหนังสือเหล่านั้นได้ ไม่ใช่เห็นภาพชัดเจนแล้วก็ล้มหายตายจากไป

สิ่งหนึ่งที่ผมรักความเป็นหนังสือก็คือ สามารถเปิดอ่านได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก ยกเว้นถ้าต้องการอ่านในยามค่ำคืน หรือสถานที่มืด จำเป็นก็ต้องหาไฟมาส่องสว่าง นั่นยังเป็นเสน่ห์ของหนังสือกับผม ไม่ได้ดูทีวี มันทำให้ชีวิตผมพลาดอะไรไปหรือไม่ ผมก็คงตอบแบบผมว่า ผมไม่ได้รู้สึกขาดอะไรไป เพราะสิ่งที่มีอยู่ในทีวีบ้านเรา โดยเฉพาะที่เป็นฟรีทีวี แทบไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับผมเลย ยกเว้นแต่ว่าจะมีรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศทีมโปรดเท่านั้นเอง

อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งผมเองนั้นร่ำเรียนมาทางนี้ รูปแบบการทำงานและวิธีการนำเสนอทุกอย่างเรารู้กันอยู่ ว่านำเสนอแบบนี้ ช่วงเวลานี้ กลุ่มเป้าหมายนี้ จะได้อะไรตามมาและโดยเฉพาะในสังคมที่ถูกมอมเมาด้วยข่าวดาราและข่าวไอ้หื่น ฆ่าข่มขืนด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องมีอะไรให้ต้องคิดมาก แต่สิ่งที่ทำให้คิดมากก็คือ เมื่อไหร่เราจะหลุดออกจากการบริโภคสื่อแบบนี้กันเสียที ในเมื่อสื่อเองมีอำนาจในการชี้นำในทางที่ดี แต่กลับมอมเมาซ้ำเติมสังคมที่สถาบันครอบครัวกำลังล่มสลาย หรือหลายคงคงบอกว่า มันล่มสลายไปตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะ เมื่อพ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่สามารถตามลูกหลานได้ทัน เพราะความเจริญทางด้านวัตถุที่ถาโถมจนชาวบ้านอย่างเราไม่ทันตั้งตัว

การสื่อสารที่ก้าวล้ำ ไม่ใช่ล้ำแบบธรรมดา มันถึงขั้นล้ำเข้ามาในชีวิตความเป็นส่วนตัวด้วยซ้ำ โทรศัพท์มือถือที่เมื่อก่อนเป็นของหายาก ตอนนี้อย่างน้อยชาวบ้าน ตาสี ตาสา ก็ต้องมีไว้ติดต่อโทรหากันตลอดเวลา ทั้งๆ ความจำเป็นที่แท้จริงแล้วเราไม่เคยนึกถึงเลยว่าต้องใช้มันตลอดเวลาหรือไม่ เมื่อก่อนใครมือโทรศัพท์ ถือเป็นเรื่องแปลก แต่ตอนนี้ ใครไม่มี ถือว่าแปลกยิ่งกว่า

ภูมิต้านทานด้านความสุขในจินตนาการของเราถูกลดบทบาทลงไป ที่ผมพูดอย่างนั้นก็เพียงรู้สึกว่า ถ้าหากเราคิดถึงใครสักคน เมื่อก่อนเรายังเก็บเอาความคิดถึงและจินตนาการได้เองอยู่คนเดียว แต่ทุกวันนี้มันกลับไม่ใช่ คิดถึงเมื่อไหร่ กดเบอร์หาทันที ทั้งๆ ที่ลืมคิดไปว่าฟากปลายสายด้านหนึ่งเขากำลังคิดถึงเราหรือเปล่า ถ้าเขากำลังคิดแบบเดียวกับเราก็ดีไป แต่ถ้าตรงข้ามกันเมื่อไหร่กลายเป็นเราที่ก้าวล้ำเข้าไปในความคิดถึงเสีย อย่างนั้น ณ คนละฟากฝั่งปลายนา ในวันที่ต้องออกไปทำเกษตรกรรม ตัดอ้อยอยู่คนละฝั่ง พอเที่ยงวันจะพักกินข้าวก็ยังต้องโทรหา เรียกให้มากินข้าว ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนต่างคนต่างสามารถกำหนดเวลามาล้อมวงอาหารเที่ยงด้วยกันโดยไม่ ต้องนัดหมาย ความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะยอมรับได้นี้มันเกิดขึ้นจริงๆ มันจำเป็นขนาดนั้นหรือ ที่เราต้องรับจ้างตัดอ้อย รับจ้างเกี่ยวข้าววันละไม่กี่ร้อย เพื่อที่จะหาเงินมาเติมเงินใส่ในโทรศัพท์ เพื่อเอาไว้โทรหาคนข้างๆ ที่เราเห็นหน้ากันอยู่ทุกวันเช้า เย็น

การมีโทรศัพท์มือถือ ทำให้ความสามารถในการวางแผนชีวิต ลดลง ผมเชื่อของผมอย่างนั้น ในวันที่เราต้องนัดเพื่อนไปกินข้าว ที่ไหนซักแห่ง แทบจะไม่มีการบอกกล่าวเวลา และสถานที่ชัดเจน หลายคนบอกว่า เมื่อใกล้ถึงแล้วค่อยโทรหา แต่มันจำเป็นที่ต้องโทรหากันขนาดนั้นหรือ ทั้งๆ ที่เราต่างตกลงกันแล้ว ว่าจะเจอกันที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร คำว่า “เดี๋ยวค่อยโทรนัด” เริ่มมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ที่เราต้องโทรตามเพื่อน ถ้าหากใครสักคนมาไม่ทันเวลา เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป แต่รายได้ การศึกษาและสภาพความพร้อมด้านจิตใจไม่เปลี่ยนตาม จึงเป็นที่มาของคำว่า “ปัญหา” ปัญหาที่นับวันยิ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการขาดความรู้ความเข้าใจในการแก้ไข เพราะโดนความสะดวกสบายครอบงำจนลืมความยากลำบากเสียสิ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง พร้อมทั้งแรงสนับสนุนจากโฆษณาในสื่อหลากหลายชนิดช่วยกระตุ้นต่อมกิเลสอยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน เด็กวัยรุ่นแทบสะกดคำว่า “วัด” ไม่เป็น เอาแต่ “วัดดวง” กับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แทบจะหาคนผิดและทางแก้ไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักสำนึกผิดและพยายามแก้ไขด้วยตัวเราเอง ไม่เช่นนั้น จักต้องตกเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลงที่เรากำหนดไม่ได้ตลอดไป

Back to Top

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to Top