แสวงหา

หากสงสัยก็จงตั้งคำถาม เมื่อตั้งคำถามแล้วก็จงหาคำตอบ

โลกทุกวันนี้การหาคำตอบ ไม่ใช่แค่การ “ถาม” หรือ รอฟังจากผู้รู้ รอดูจากผู้เคยเห็นเท่านั้น การ “อ่าน” และการ “ค้นคว้า” ไม่ว่าจากแหล่งความรู้ใด ใด แล้วนำมาแยกแยะว่าอันไหนจริง อันไหนลวงนั่ถือเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งยวดไปกว่าการรับรู้ เชื่อ โดยไม่ไตร่ตรอง คัดแยก

ความโหดร้ายของการใช้ความรู้ที่ผิดๆ ไปทำร้ายผู้อื่นนั้นมันน่ากลัวยิ่งนัก

เมื่อเรารู้ว่า เสิร์ชเอ็นจิ้น นั้นมีหลายด้าน เราก็เลือกเอาด้านที่มันดี แต่ปัญหาของมันไม่ได้อยู่ที่ เรามีเครื่องมือค้นหาที่เจ๋งป๊าบ แต่มันอยู่ที่ เราใช้มันอย่างไร นั่นต่างหาก

วันนี้ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ วันที่ผมนั่งดูหน้าวอลล์ของ Facebook ตัวเองตามปกติ แต่ผมถูกสะกิดจากโพสต์อันหนึ่ง มีเพื่อนแชร์มา เขียนว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ใช้ 365 วัน 5 ชม. 48 นาที 46 วินาที,
คนทำปฏิทินจึงเก็บเศษ 5 ชม.กว่านั้นไว้ รอมาทดรวมกัน เป็นวันที่ 29 กุมภา
สิ่งแรกที่ผมวาบขึ้นมาในหัวคือ “มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือวะ

ถ้าหากไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ไม่นำไปเล่าต่อ มันจะไม่เกิดปัญหาอะไรตามมา แต่หลายครั้งคนเรามักเล่าอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ปราศจากรายละเอียดแล้วเกิดความเข้าใจผิดๆ สร้างดราม่ากันเรื่อยไป เรื่องเล็กๆ บางทีมันไม่เล็กนะครับ ไม่เชื่อไปถามแพทย์จิตวิทยาดู ว่ามันเล็กจริงไหม

จากความสงสัยข้างต้นผมจึงเริ่มหาข้อมูลไปเรื่อย เจอรูปโป๊บ้าง ไม่โป๊บ้าง เจอรถไถนาบ้าง กระสอบปุ๋ยบ้าง น้ำมันเครื่องบ้าง ดาราสามเศียรบ้างตามปฏิทิน แต่มันไม่เกี่ยวกันนี่หว่า ตั้งหลักใหม่

ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ 1 ปี มีอยู่ 10 เดือน ตามปฏิทินของเก่าแก่ของโรมัน (ประมาณ 753 BC) โดยเดือนแรกเริ่มที่ 1 มีนาคม (Martius) ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาไม่นาน (713 BC) Numa Pompilius กษัตริย์องค์ที่สองก็ได้เพิ่ม วัน เข้าไปเพื่อให้ตรงตามปฏิทินแบบจันทรคติของชาวบาบิโลน คือต้องเพิ่มอีก 51 วัน (จาก 304 วันที่มีอยู่ตามปฏิทินเก่า) ด้วยความที่เชื่อในเรื่องเลขคี่จะนำมาซึ่งโชคลาภของชาวโรมัน Numa ได้ดึงเอา 1 วันของเดือนที่มี 30 วันเดิมออกมาให้เหลือ 29 วัน (Aprilis / Iunius / Sextilis /September / November / December) กลับกลายเป็นว่า จากที่ต้องการ 51 วัน ได้เป็น 51+6 วัน เพื่อเอามาแยกเป็นอีก 2 เดือน ทำให้ชื่อเดือนจาก Quintilis – December ไม่ตรงตามการเรียงลำดับเดิมไปด้วย Quintilis มาจาก quinque แปลว่า ห้า / Sextilis มาจาก sex แปลว่า หก จนถึง December มาจาก decem แปลว่า สิบ โดยให้เดือนมกรา (Ianuarius) มี 29 วัน และความซวยเลขคู่ไปตกที่ Februarius 28 วัน

จึงทำให้ กุมภาพันธ์ต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ท่อนอีกที ท่อนแรก 23 วัน ท่อนหลัง 5 วัน

เวลาผ่านไปหลายร้อยปี จนกระทั่ง 153 BC วันที่ 1 มกราคม ก็กลายเป็นวันขึ้นปีใหม่

48 BC จูเลียส ซีซาร์ สร้างปฏิทินจูเลี่ยนขึ้น โดยดัดแปลงจากปฏิทินโรมัน กำหนดให้ 1 ปีในปฏิทินจูเลียนนั้นมีเวลา 365.25 วัน ทำให้ทุกๆ 4 ปี จะมีปีอธิกสุรธิน 1 ครั้ง

แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนหน้านี้ กุมภาพันธ์ มี 30 วัน (ปีอธิกสุรธิน) และสิงหาคมมี 30 วัน จักรพรรดิออกุสตุส ซีซาร์ กลัวน้อยหน้า Julius Caesar ซึ่งได้เอาชื่อของตนเองไปเปลี่ยนจากเดือน Iiulius เป็น July เมื่อ 44 BC ออกุสตุส ซีซาร์ ได้เปลี่ยน Sextilis มาเป็น August เมื่อ 8 BC แล้วไปดึงเอาเวลาจากเดือนสุดท้ายของปีคือ Februarius มาเพิ่ม เพราะกลัวน้อยหน้า Julius Caesar

ปฏิทินจูนเลี่ยนใช้ต่อเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันจนถึงปี 1582 สันตปาปาเกรกอร์ ได้ปฏิรูปปฏิทินใหม่ คือ ปฏิทินเกรโกเรียน เพราะว่าปฏิทินจูเลี่ยนมีเวลานานเท่ากับ 365.25 วัน จึงทำให้เวลาของวัน Vernal equinox (วันที่มีเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดี) ขยับเร็วไปด้วย ซึ่งยาวกว่าเวลาจริงคือ 365.2425 วัน ในปี 1582 ตามปฏิทินจูเลี่ยนวัน Vernal equinox จะตรงกับ วันที่ 21 มีนาคม แต่หตุการณ์กลับเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคมซึ่งขัดกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จากที่ปฏิทินใหม่ประกาศใช้ ทำให้ พระสันตปาปา เกรกอรี่ที่ 13 ได้ออกประกาศให้หักวันออกจากปีปฏิทิน 10 วัน (จาก 4 ตุลาคม วันรุ่งขึ้นกลายเป็น 15 ตุลาคม 1582 *กรุณาค้นหาเพิ่มเติมจากคำค้น “ปฏิทินเกรโกเรียน”) พร้อมกันนั้นยังกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ก่อนหน้านี้หลายประเทศยังใช้ 1 มีนาคมเป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่)

การเปลี่ยนแปลงแบบนี้จึงทำให้ยุโรปต้องเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบเดียวกัน เพราะอยู่ใต้การปกครองของศาสนจักรและประเทศคาทอลิกเท่านั้นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น

ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินตามสากลในรัชกาลที่ 5 เดือนแรกของปีคือ เมษายน และเดือนสุดท้ายคือ มีนาคมและไทยได้เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชอย่างในปี พ.ศ. 2456 (ก่อนหน้านี้ใช้ปีรัตนโกสินทรศก)

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม เริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 (อ่าเพิ่มเติมที่ ปฏิทินไทย)

ให้ตายเถอะอันนี้เป็นแค่เรื่องราวแบบผ่านๆ ที่ผมท่องเน็ตตามอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับตัวเอง สาเหตุจากความสงสัยแค่โพสต์หน้า Wall ใน Facebook ของเพื่อนแท้ๆ ค้นไปค้นมา อ่านไปอ่านมา ปฏิทินมันมีมากกว่า 1 ประโยคที่ได้อ่านมากมาย นี่ยังไม่หมดนะครับ ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกเยะมาก

เอาเป็นว่า 29 กุมภาพันธ์ ทำให้ผมรู้เรื่องปฏิทินเพิ่มมากยิ่งขึ้น เจอกันใหม่อีก 4 ปี

Back to Top

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to Top