เพื่อน ๆ Designer หลายท่าน รวมถึงผมนั้น ต่างรังสรรค์ผลงานของตนเองมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะล้วน ๆ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เราจะมองงานของเราโดยรวมนั้นเป็นภาพ ๆ หนึ่งซึ่งเราจะปรุงเสริมเติมแต่งลงไปอย่างไร ส่วนการ code นั้นแทบจะไม่มีการได้คำนึงถึงเลย เราบางคนใช้ XHTML และ CSS ไปเรื่อยเปื่อยแบบตามมีตามเกิด จะมีใครบ้างที่เกิดความสงสัย ใคร่รู้ว่า ความหมายโดยแท้จริงนั้นมันมีอะไรอยู่บ้าง เราเพียงแต่คิดว่าเราจะเรียงกล่องเหล่านั้นออกมาให้สวยงามอย่างไร เคยคิดที่จะศึกษาธรรมชาติของมันโดยแท้จริงไหม CSS กับการคิดนอกกรอบ (สี่เหลี่ยม ตอนที่ 1) และ CSS กับการคิดนอกกรอบ (สี่เหลี่ยม ตอนที่ 2) ส่วนใหญ่โดยธรรมชาติของพวกเราแล้วเราเพียงแต่คิดง่าย ๆ ว่า ขอแค่มันออกมาดูดีก็เป็นพอแล้ว คงเป็นส่วนน้อยที่อยากจะศึกษาให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของ Web Standards นั้นเพื่อที่จะนำผลประโยชน์ที่จะได้มาใช้ให้เกิดผลกับงานของตนเอง และ ผู้ใช้ให้มากที่สุด
เราคงต้องจัดลำดับความคิดของเราใหม่หากเราต้องการที่จะเรียนรู้ และ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Web Standards ทำไม? เพราะเราต้องคำนึงถึงในทุก ๆ รายละเอียดก่อนที่จะนำเสนอทุก ๆ อย่างที่เราต้องการจะสื่อออกไป เพราะทุก ๆ อย่างละเอียดอ่อน, มีความหมาย และ มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง scope ง่าย ๆ คือ เราต้องมอง และ คิดในแง่มุมที่แตกต่างไป โดยหลัก ๆ แล้วมีดังนี้
- คิดและมองอย่าง นักเขียน
- คิดและมองอย่าง วิศวกร
- คิดและมองอย่าง ศิลปิน
ก่อนที่เราจะนำเสนองาน web design ที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ออกสู่สายตาผู้ใช้ หรือ กลุ่มเป้าหมายที่เราเองนั้นต้องการ จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่แค่การออกแบบแล้วตัดออกมาเหมือนกับเมื่อก่อนแล้ว เราทุกคนจะต้องมองเพิ่มไปถึงการลำดับความสำคัญของเนื้อหา การจัดวางโครงร่าง และ การนำเสนองานให้สื่อถึงความเป็นตัวของตัวเราเอง การคิดและมอง ในแต่ละส่วนนั้นเป็นอย่างไร ให้ลองคิด และ มองตามกันไปเลยในบทความนี้
Part 1: คิดและมองอย่าง นักเขียน
นักเขียนมักจะสื่อสารงานของตนผ่านตัวอักษร นักเขียนจะเข้าใจถึงแก่นแท้ของคำแต่ละคำนั้นว่าหมายถึงสิ่งใด จะถักทอสานเชื่อมต่อคำเหล่านั้นอย่างไร ให้สื่อสารเข้าไปถึงอารมณ์ของผู้อ่านได้ นักเขียนจะรู้ระดับของคำ และ ความไพเราะของภาษาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะคัดเลือกและนำมาสื่อสารงานของเขาเหล่านั้นให้ผู้อ่าน หรือ กลุ่มเป้าหมายของพวกเขาเข้าใจได้เป็นอย่างดี
โดยเริ่มนั้นจะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งถึงความหมายของภาษา ซึ่ง Web Standards นั้นได้หยิบยืมสิ่งนี้มาใช้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ภาษาของมนุษย์ ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็น Markup Language ในทุก ๆ element ของ XHTML นั้นต่างมีความหมาย และ จุดประสงค์ในตัวของมัน เพราะฉะนั้นเมื่อเรานำมาใช้งานเราจะต้องนำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับ content ที่เรามีอยู่ เฉกเช่นเราเขียนเอกสาร หรือ งานเขียนสักงานหนึ่งเพื่อที่จะสื่อสารต่อผู้อ่าน หรือ กลุ่มเป้าหมายให้เข้าใจในงานเขียนของเรา
เพื่อที่จะเข้าใจในการ คิดและมองอย่าง นักเขียน นั้น คุณต้องวิเคราะห์เนื้อหาของงานของคุณนั้นให้แน่ชัด concept หลักต่าง ๆ สิ่งที่คุณจะก้าวข้ามไปถึง หรือ มุ่งไปหา เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว คุณต้องเริ่มวางแผนในการนำ XHTML elements เข้ามาใช้ร่วมกับงานของคุณให้ถูกต้อง และ เหมาะสมที่สุด
ตัวอย่างเช่น Logo ที่เป็นชื่อ หรือ สัญลักษณ์ของ website นั้น เป็นสิ่งเดียว และ สำคัญที่สุด เราจะมองอย่างนักเขียนอย่างไร ในที่นี้ Logo ก็จะเหมือนกับ ชื่อบทเรียน, ชื่อบทกลอน หรือ งานเขียน ที่จะเป็นสิ่งบ่งบอกสิ่งเดียวว่าเนื้อหาที่อยู่ในนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น Logo ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในแต่ละหน้า ซึ่งนั่นก็คือ <h1> เพราะฉะนั้นเราจะจัดแต่ <h1> ตัวนี้อย่างไรก็ต้องไปเพิ่มในส่วนของ CSS เพื่อที่จะตกแต่งออกมาให้เป็นไปตามต้องการ
พอจะมองออกไหมครับว่า ถ้านักเขียนสื่อสาร และ ใช้ถ้อยคำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การสัมผัสความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา ก็จะทำให้สามารถสื่อสารกับผู้อ่าน หรือ กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเข้าใจ และ มีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน ถ้าหากนักเขียนไม่มีการจัดเรียงลำดับถ้อยคำ หรือ เนื้อหา ก็จะสื่อสารไปยังผู้อ่าน หรือ กลุ่มเป้าหมายไม่ได้ หรือ น้อยมากที่จะเข้าใจ ก็ไม่แตกต่างกับที่เราใช้ XHTML elements ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับเนื้อหาของเรา การเข้าถึง หรือ การเข้าใจ ไม่ว่าจะจาก Search Engine หรือผู้ใช้ต่าง ๆ เช่นผู้พิการทางสายตา หรือ แม้แต่เทคโนโลยีที่สนับสนุนต่าง ๆ ก็จะพลอยทำให้เกิดเป็นเรื่องยุ่งยากตามมาในภายหลังได้
จะเห็นได้ว่า การเขียน XHTML ให้เป็นไปตาม Web Standards นั้นเราจะต้องมีความเข้าใจทั้งในเนื้อหา และ XHTML elements ด้วย เพื่อที่จะเขียนงานของเราออกมาได้ถูกต้อง list ก็ต้องเป็น list, table ก็ต้องเป็น table, paragraph ก็ต้องเป็น paragraph เป็นต้น
จบตอนที่ 1 ไว้กลับมาต่อกันในตอนต่อไปครับผม
0 Responses to รู้จัก และ เข้าใจใน Web Standards