อาชีพเขียน CSS

หลายๆ คนที่แวะเข้ามาอ่านบทความที่ ThaiCSS ชักจะเริ่มอ่านบทความที่ผมเขียนไม่รู้เรื่องบ้างแล้ว ตอนนี้ ผมพยายามปรับปรุงรูปแบบการเขียน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เพื่อที่จะได้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้น แต่ ในความรู้สึกของคนทั่วไป มันก็ยังยากที่จะเข้าใจอยู่ดี

เมื่อก่อนนี้ ผมคิดหาทางแก้ไขอยู่เหมือนกัน ว่าจะเขียนยังไงให้มันง่ายสำหรับคนทั่วไป

คิดไปคิดมา ก็ถึงบางอ้อ ว่า "ThaiCSS ไม่ได้มีสำหรับคนทั่วไป" นี่หว่า แสดงว่าหลุดกลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายมี ห้าคน ที่นั่งฟัง เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดเสียงดังๆ เพื่อให้คนที่เดินผ่านมาผ่านไปได้ยินหรือพยายามให้เขาเข้าใจด้วย รบกวนเขาเปล่าเปล่า ถ้ามีคนอื่นสนใจ เดี๋ยวเขาจะมานั่งฟังเอง แต่บางที ถ้าห้าคนที่นั่งอยู่หนีหมด ก็แสดงว่าหมดอนาคต ผมพับเสื่อกลับบ้านได้เลย

ไม่ฉะนั้น มันจะหลุดกลุ่มเป้าหมาย

ส่วนใหญ่แล้ว คนที่คิดเขียน CSS ในตอนแรก คงคิดว่ามันง่ายๆ อะไรก็ได้ เช่น ผัดไทประตูผี หรือ ข้าวต้มราชวงศ์ อะไรประมาณนั้น แต่หารู้ไม่ว่า CSS มัน ซุปหน่อไม้ใส่ใบขิง ชัดๆ จัดเป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม คิดจะกิน ต้องกินเป็นอาชีพ กินแบบพาร์ทไทม์ไม่ได้ แต่ก็อย่างว่า ตลาดมันไม่ค่อยกว้าง เสี่ยงต่อการอดตายสูง หากกินผิดหลัก ถ้าปฏิบัติตามมาตรฐาน อย. แล้ว รับรอง ได้ใบประกาศ แน่นอน ส่วนประกาศว่าเป็นอะไรนั่น ก็อีกอย่างหนึ่ง

อาชีพเขียน CSS จัดอยู่ในหมวดหมู่ พืชโลกใหม่ ที่นักชีววิทยาเพิ่งค้นพบ หลังจากที่ดาร์วิน ได้ให้กำเนิดสายธารแห่งระบบชีววิทยาได้ไม่นาน

อีกทั้ง ยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนแน่นอน ว่าพืชชนิดนี้ ผ่าเหล่ามาจากสายพันธุ์ไหน แต่มีการยืนยันแล้วว่า "ไม่น่าจะสูญพันธุ์" ง่ายๆ แน่นอน

ช่วงนี้จึงจัดว่า เป็นยุคแรกของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "พืชสายพันธุ์ สยามเมี่ยน ซีเอสเอส" มีการลองผิดลองถูก อาจจะมีความเป็นกรด เป็นด่าง มากเกินกว่าค่ากลางที่ทาง W3C กำหนด แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ผมเชื่อว่า ค่า กรด-ด่าง จะคงที่ เมื่อการเมืองและเศรษฐกิจบ้านเราไม่แกว่ง มีรัฐบาลที่ไม่โกงกิน มีพระที่ไม่ขับรถไปซื้อเบียร์ที่ร้านสะดวกซื้อยามวิกาล

อาชีพเขียน CSS มักกระจุกอยู่ในเขตที่มีงานชุกชุม ซึ่งมักจะเป็นบริษัทใหญ่ๆ จึงจะสามารถเห็นอาชีพนี้ชัดๆ เพราะบริษัทเหล่านั้นจะแยกงานออกเป็นส่วนๆ ซึ่งจะต่างจากบริษัทขนาดย่อม ที่มักจะเอางานทุกอย่างมารวมไว้ที่คนๆ เดียว

คนที่เขียน CSS มักจะมีงาน อดิเรก คือ เขียน HTML ไปด้วย แต่ผมถือว่า งานอดิเรกที่ว่านี้ ยากกว่างานประจำ แต่ปัญหามันก็คือ ถ้าเราจะไปบอกคนอื่นว่า เรามีอาชีพเขียน HTML เนี่ย เดี๋ยวโปรแกรมเมอร์เทพ เทพ เขาจะหัวเราะเอา เพราะบางคนคิดว่า ใคร ใครก็เขียนได้ ไอ้เจ้า HTML นั่นน่ะ

ให้ตายเถอะ ท่านภราดร เขียน "ได้" กับ เขียน "เป็น" มันต่างกัน

อีกอย่าง ถ้าได้บอกคนอื่นว่าเขียน CSS ได้นี่มันก็เข้าท่าดีเหมือนกัน คำว่าอาชีพเขียน HTML เลยไม่โดดเด่น

ด้วยความสัตย์จริง CSS ง่ายกว่า HTML เยอะครับ

ผมน่าจะเปิด ThaiHTML นะ ตั้งแต่ตอนแรก แล้วค่อยมีหมวดการเขียน CSS แต่ช่างมันเถอะ ตอนนี้ เราไม่สามารถนำคำว่า HTML ออกไปขายได้ ในแง่มุมของการตลาด เพราะฉะนั้นใช้ CSS นั่นแหละดีแล้ว เพราะกระแสธุรกิจมันโน้มเอียงมาทางนี้ ก็ต้องแถไปทางนี้

ถึงย่อหน้านี้ จึงเกิดอาชีพ พ่วง ขึ้นมา คือ อาชีพเขียน HTML ด้วย

กว่าที่เราจะเรียกการทำงานบางอย่างว่าเป็นอาชีพได้นั้น "การรู้แจ้ง เข้าใจถึงแก่น" ของเนื้อหาในงานนั้นควรจะเป็นเรื่องแรกที่เราต้องรู้จัก ซึ่งถือเป็นการไม่ดูถูกอาชีพ ให้เกียรติเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่ใช่เรื่องยาก หากใครก็ตามที่อยากจะศึกษา CSS หรือ HTML ให้ได้อย่างถ่องแท้และเขียนมันออกมาได้อย่างใจนึก เห็น Design จาก Web Designer แล้ว Layout ของ HTML ลอยออกมากองตรงหน้าเลย สามารถตีความ แยกแยะหมวดหมู่ความสำคัญ ตั้งชื่อ Class แยกความเป็นตัวตน (ID) หรือจัดการวาง URI ในหน้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบในอาชีพที่ต้องทำ

ถือเป็นจรรยบรรณ ของนักเขียน CSS HTML ที่พึงปฏิบัติ

สำหรับ อาชีพการเขียน CSS และงานอดิเรกของคนเขียน HTML ผมมีหลักการปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเซ็กส์ เล็กน้อย มาแนะนำ ถือเป็นข้อควรรู้ แต่ไม่ต้องจำให้เปลืองหน่วยความจำในสมองทั้งสองซีก

CSS

  1. ทฤษฎีพื้นฐานของ ภาษา CSS

    จำเป็นสูง กับการสร้างความเข้าใจ ความเป็นมา และจะเป็นไป ของ ภาษา CSS นาน นานที่ อัพเดทความรู้ก็ได้ เพราะ แปดปี สิบปี เขาเปลี่ยนทีหนึ่ง หลักๆ คือการแบ่งกลุ่มและการจัดการหมวดหมู่ของภาษา เช่น ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงความสามารถ Module ใดบ้าง หรือกำลังเพิ่มเติมอะไรเข้ามา สำหรับส่วนไหน

  2. Selectors

    จำเป็นมาก ที่ต้องนำ Selector แต่ละประเภทไปใช้งานให้ถูกต้อง รวมถึง การเขียน Selector แบบ Combinators ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับงานใหญ่ๆ CSS ไม่ได้มีแค่ คลาส ไอดี หรือ ไทป์ selectors เท่านั้น

    ทำความเข้าใจ Substring matching Selector ได้จะยิ่งดีมาก ช่วยให้การเขียน HTML เป็นระบบได้เป็นอย่างดี

  3. Property ที่เอาไว้ใช้กับ Element ของ HTML

    property ของ CSS ถูกแยกหมวดหมู่เอาไว้ บางคนเขียนมั่วโดยที่ไม่รู้ เช่น การสั่ง display: block ให้กับ HTML ที่เป็น Block Element อยู่แล้ว ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นเลย

HTML

  1. กลุ่มข้อมูล แบบ HTML
  2. พฤติกรรมของ Element
  3. HTML Tag

HTML มีการใช้งานแบบแยกประเภทกลุ่มข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตามคุณลักษณะการใช้งาน ซึ่งจะมีความแตกต่างซ้อนลงไปอีกว่า ในแต่ละกลุ่มข้อมูลมันจะมีพฤติกรรมของแต่ละ Element ไม่เหมือนกัน และสุดท้าย HTML tags จงจำให้หมดและใช้งานมันให้คุ้มค่ากับเวลาชีวิตที่เสียไป

น่าเสียดาย เว็บหรือแหล่งความรู้ของการเขียน HTML CSS เมืองไทยเรายังมีน้อย ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการแสวงหาความรู้และแรงบรรดาลใจแก่ รุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากรู้

ใครที่กำลังลังเล ว่าจะเปิด Blog หรือ Web บอกเล่าประสบการณ์เขียน CSS ก็ รีบด้วยช่วยกันนะครับ ค้นคำว่า CSS ผ่านเครื่องมือค้นหาแล้ว หดหู่ มันช่างต่างมากมายกับการหาคำว่า PHP

แล้วก็ หลังๆ มานี่ ค้นหาคำว่า CSS เจอแต่เว็บขายตุ๊กตา สงสัยไวรัสลงเครื่อง

ผมอยากให้มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และที่สำคัญ พูดรู้เรื่องกว่า ThaiCSS

สำหรับหัวข้อแนะนำของ CSS HTML ข้างต้นนั้น ผมได้เขียนเอาไว้แล้ว เดี๋ยวนำมาเรียบเรียงลง ThaiCSS เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันต่อไปครับ

มีความสุขกับการใช้ชีวิตครับ

Back to Top

10 Responses to อาชีพเขียน CSS

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to Top