สวัสดีครับเป็นยังไงกันบ้างครับในวันบ้านเมืองหม่นหมอง ก็หวังใจไว้ว่าทุก ๆ คนคงไม่เครียดกับภาวะแวดล้อมมากมายจนเกินไปนะครับ วันนี้ผมมาบ่นอะไรอีกอย่างที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ หลาย ๆ คนชอบบ่นว่ามันเกี่ยวข้อง อะไรตรงไหน หรือ ละเลยไม่สนใจว่าเราควรจะ ออกแบบ
งานแต่ละงานออกมาอย่างไร ให้ถูกใจผู้ใช้งาน ให้เดินทางจากต้น ไปถึงจุดสุดท้ายของลำดับเนื้อหา หรือ การทำงาน ที่คาดหวังไว้ สมใจ สมปรารถนา กันทั้งทีมพัฒนาเว็บไซต์
เข้าเรื่องกันครับ สิ่งที่ผมจะพูดถึงวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ Usability และ เกี่ยวข้องกับ User Experience สิ่งที่จะพูดตามหัวข้อเลยครับ Eye Tracking Theory ครับ
Eye Tracking Theory คือ ทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่อง การเคลื่อนไหวของสายตามนุษย์
ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับงานออกแบบทั้งหมดอย่างไร ต้องขออนุญาติบอกว่าเกี่ยวข้อง และ ในความคิดผมนั้นมากด้วยไม่ว่าคุณจะเป็น นักออกแบบ
อะไร ถ้าเป็นสิ่งที่มนุษย์นั้นต้องมองเห็น นักออกแบบก็ต้องคำนึงถึงสิ่ง ๆ นี้ เป็นโจทย์หลักข้อใหญ่ข้อหนึ่งเหมือนกัน เพราะเราต้องกำหนด จุดเริ่มต้น
และ จุดสิ้นสุด
ให้กับชิ้่นงานใดใด ที่เราต้องการออกแบบ ให้สายตาของผู้ใช้งาน หรือ ผู้บริโภค เคลื่อนไหวไปตามความสำคัญของเนื้อหา หรือ สิ่งที่ต้องการนำเสนอในงานออกแบบนั้น ๆ ของคุณ ทั้งหมดนี้ ผมจะขออนุญาติเขียนเฉพาะสิ่งที่ Eye Tracking เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานออกแบบเว็บไซต์อย่างไรนะครับ
Eye Tracking นั้นมีประโยชน์ต่อการออกแบบ User Interface เมื่อเราออกแบบงานเสร็จควรจะมีการทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ๆ หรือ คนที่อยู่ในสถานะที่คล้ายกับผู้ใช้งานจริง ๆ อย่างเช่น ผมมักจะให้คุณแม่ของผมลองใช้งานเว็บไซต์ที่ผม และ เพื่อน ๆ พัฒนาเสมอ เพราะคุณแม่จะไม่ค่อยสนใจเทคโนโลยีของ Internet ลึกมาก เพียงแต่ท่านจะใช้เท่าที่จำเป็นต้องใช้ เหมือนท่านอยากอ่านหนังสืออะไรท่านก็เดินออกไปซื้อมาอ่าน เช่นกัน เวลาคุณแม่จะใช้งานเว็บไซต์ท่านก็จะใช้เฉพาะเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวท่านเองสนใจ ถ้ามันยากท่านก็จะบอกว่ายาก หาไอ้นั่น ไอ้โน่น ไอ้นี่ไม่เจอ ท่านก็จะบ่นว่าหาไม่เจอมันทำให้ผมได้วิเคราะห์ไปด้วย หลังจากนั้นผมก็จะลองไปให้คนนั้นคนนี้ลองกดเล่นดู อาจจะเป็นเพื่อนที่เป็นนักบัญชี หรือ ใครก็ตามที่ไม่เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเท่ากับที่เราทำกันอยู่ แล้วคุณจะได้คำตอบที่ล้ำค่าว่างานออกแบบที่คุณได้ออกแบบมานั้น เป็นไปตามที่คุณต้องการแล้วหรือไม
ปัจจุบันนั้นทันสมัย (เพื่อนฝูงทั่วไปใช้ถ่านไฟตรากบ … อ๊ะ … ไม่ใช่สินะ) หลาย ๆ มหาวิทยาลัย หรือ บริษัท องค์กร ภาครัฐ ในบางประเทศได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น จริง ๆ Eye Tracking Theory (ทฤษฎีการเคลื่อนไหวของสายตามนุษย์) นั้นมีการศึกษามาเนิ่นนานกว่า 30 ปี หลาย ๆ ท่านที่ทำการศึกษาก็พยายามจะหาคำอธิบายจากสถิติที่ตนเองทำการทดลอง และ เก็บวิเคราะห์มาได้ บ้างก็พัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นมาใช้เพื่อการนี้ ใช้ซอท์แวร์นี้ร่วมกับหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการจะทำการทดสอบว่าออกแบบมาถูกต้องตามที่ต้องการจะให้เป็นหรือไม่ และ ซอฟท์แวร์เหล่านี้ก็จะเก็บสถิติ และ แสดงผลสถิติออกมาเป็น Heat Map ว่าจุด ๆ ใดบนหน้าเว็บไซต์นั้นถูกมองมากที่สุด ส่วนวิธีที่ใช้ทดสอบ และ เก็บข้อมูลแบบคลาสสิค โบร่ำ โบราณนิยมก็มี ดังนี้ครับ
Think Alound (TA) การทดสอบประเภทนี้ ผู้ทดสอบจะกำหนดภารกิจให้ผู้ใช้งานได้ปฏิบัติในหน้าเว็บ หรือ ระบบของเว็บ ที่เราต้องการจะทดสอบ แล้วบันทึกว่าผู้ใช้งานแต่ละคนที่เราให้เข้ามาทดสอบนั้น มองเห็นอะไร รู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร กับหน้าเว็บ หรือ ระบบเว็บ ที่เอามาให้ทดสอบนั้นตามภารกิจที่กำหนด (ในขณะกำลังใช้งานสด ๆ เลยนะครับ) ระบบ หรือ หน้าเว็บนั้น เอื้ออำนวยกับพวกเขามากน้อยแค่ไหน จากนั้น ก็เอาสถิติเหล่านั้นมาวิเคราะห์ครับว่าตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบ User Interface และ Usability หรือไม่ ถ้าไม่ นักออกแบบก็ต้องลองปรับงานที่ออกแบบมาแล้วครับ แล้วเอาไปทดสอบใหม่ว่าที่แก้มานั้นตรงตามที่อยากให้เป็นหรือไม่
อย่างไรก็ตาม Think Alound ก็มีข้อเสีย เพราะภารกิจอาจจะมีผลทางจิตวิทยา ผู้ใช้งานที่เข้าทดสอบอาจจะคล้อยตาม และ สับสนกับความต้องการเริ่มต้นของตนเองได้ กลายเป็นคล้อยตามสิ่งที่ภารกิจกำหนด เพราะฉะนั้นตอนที่เขียนภารกิจสำหรับทดสอบนั้นต้องเขียนให้เป็นกลางที่สุดเช่นกัน รวมไปถึงการตอบคำถามของผู้ทดสอบ อาจจะเป็นการรบกวนผู้ใช้งานที่กำลังทำการทดสอบอยู่ อาจจะทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนได้เหมือนกัน อีกประเด็นหนึ่งคือ ผู้ใช้งานที่ได้เข้าทดสอบในรอบแรก เมื่อเข้าทดสอบอีกครั้ง หลังการแก้ไขงานออกแบบแล้ว อาจจะคุ้นชินจำภาพที่ตนเองเห็นได้จากการทดสอบครั้งแรก อาจจะทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนไปได้ เช่นกันครับผม
Retrospective Think Alound (RTA)คล้ายกับ Think Alound ครับเพียงแต่จะให้ผู้ใช้งานที่เข้าทดสอบนั้นออกมาบอกผู้ทดสอบว่าจดจำอะไรได้บ้างหลังจากผ่านการทดสอบมาแล้ว ให้เวลากับผู้ที่ถูกทดสอบในการทำตามภารกิจที่กำหนด ก่อนออกมาตอบคำถามที่เราเตรียมเอาไว้
แม้ว่าจะดูยากกว่า เพราะการที่จดจำอะไรได้อาจจะต้องมีการให้ลองใช้งานมากกว่า 2 ครั้งแต่ไม่ควรเกิน 5 ครั้ง เพราะผู้ใช้งานที่เข้าทำการทดสอบบางคนอาจจะ ความจำสั้น
บางคนอาจจะจำได้แค่ logo ของเว็บก็ได้ในครั้งแรก แต่การทดสอบแบบนี้ได้ผลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงกว่า เพราะเราเข้าไปรบกวนผู้ใช้งานขณะทดสอบน้อยมากครับ
ทั้งสองแบบทดสอบข้างต้นที่ว่ามานั้นบางครั้งจะมีการบันทึกวิดีโอเพื่อเปรียบเทียบตำแหน่งของการกรอกของสายตาครับ ปัจจุบันจะมีซอฟท์แวร์ที่ใช้บันทึก และ วิเคราะห์สถิติให้โดยอัตโนมัติครับ ลองเข้าไปแวะชมกันดู (Tobii และ Objective Digital)
จะเห็นได้ว่า Eye Tracking จะเกี่ยวข้องกับงานออกแบบของเรามากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อทำการออกแบบเสร็จแล้วก็ควรจะลองทำแบบทดสอบเพื่อตรวจดูว่างานของคุณออกแบบมาสมบูรณ์แล้วหรือยังนะครับ (ตามความเหมาะสมนะครับ บางอย่างถ้างบไม่พอก็รอฟัง อ่าน feedback ที่ผู้ใช้งานจะเขียน บ่น ด่า แนะนำเข้ามาก็ได้ครับผม)
ทีนี้มาดู ผลการวิจัย EYETRACK III ครับ ว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ กรอกสายตาตอบโต้กับ เว็บไซต์ส่วนใหญ่อย่างไร (เริ่มต้น จนไปถึงสิ้นสุด หรือ อะไรที่ดึงความสนใจของ สายตาพวกเขา)
- หัวข้อ ดึงดูดสายตามากกว่ารูปภาพ ถ้าคุณออกแบบหัวข้อได้ดึงดูดใจ และ วางมันอยู่ในตำแหน่งเริ่มต้นของการอ่าน (ซ้ายมือ) หัวข้อนั้นจะเป็นจุดสนใจของสายตาเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นรูปภาพจะเป็นลำดับต่อไปที่สายตาจะกรอกไปหา
- ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะจดจำใจความได้ เฉพาะ 2 คำแรกที่ขึ้นต้นในหัวข้อเท่านั้น ใช่ว่าหัวข้อยาว ๆ จะไม่เข้าท่านะครับ แต่ควรจะเขียน 2 คำแรกให้ดึงดูด และ จำได้ง่ายจะเป็นการดีที่สุด
- ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านเนื้อหา ของกลุ่มหัวข้อที่ถูกจัดวางไว้ทางซ้ายมือก่อนเสมอ สืบเนื่องจากข้อที่สองครับ เมื่ออ่านหัวข้อแล้วผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเริ่มกวาดสายตาเพื่ออ่านเนื้อหาของหัวข้อนั้น ๆ อย่างรวดเร็ว
- หัวข้อของคุณต้องเป็นจุดสนใจให้ได้ภายใน 1 วินาที หรือ น้อยกว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ทส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความอดทนน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งอื่น ๆ ที่ยั่วยุ หรือ รบกวนสายตาได้มากกว่าจะถูกสนใจแทนครับ
- ตัวหนังสือที่เล็กช่วยให้อ่านง่ายกว่า ตัวหนังสือที่ใหญ่ดึงดูดความสนใจได้มากกว่า ตัวหนังสือที่เล็กจะชวนให้อ่าน เพราะว่าต้องใช้การเพ่ง การจ้องไปที่ตัวหนังสือเหล่านั้นมีผลทำให้ผู้ใช้งานมีสมาธิจดจ่ออยู่กับมันได้
- ระบบนำทาง (navigation) ที่วางไว้ด้านบนสุด จะดึงความสนใจของผู้ใช้งานมากที่สุด เพราะฉะนั้นนี่เป็นการคาดหวังที่เป็นค่า default ของผู้ใช้งานเลยนะครับว่า ระบบ navigation ของเว็บไซต์ที่พวกเขาใช้งานอยู่นั้นจะต้องนำพาพวกเขาไปทุก ๆ ที่ในเว็บไซต์นั้นได้
- ย่อหน้าสั้น ๆ ได้ใจความดึงดูดใจผู้ใช้งานให้อ่านได้ดีกว่าการจัดวางย่อหน้าให้เป็นระบบระเบียบ การจัดวางย่อหน้าให้เป็นระบบระเบียบในสิ่งพิมพ์นั้นดึงดูดให้ผู้อ่านอยากอ่านได้ดีจริงครับ แต่ในโลกออนไลน์นั้น ย่อหน้าที่กระชับ หรือ เนื้อหาที่อ่านได้ใจความอย่างรวดเร็วจะดึงดูดใจได้มากกว่า
- คำโปรยที่เขียนได้ดีจะชวนให้ผู้ใช้งานสนใจได้มากขึ้นเข้าไปอีก สืบเนื่องจากข้อที่แล้วครับถ้าคุณเขียนคำโปรยได้น่าสนใจ สั้น รวบรัด ได้ใจความด้วยก็จะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานอยากอ่านเนื้อหามากขึ้น
- โฆษณาที่วางไว้ที่ตำแหน่งบนสุด และ ซ้ายสุดมักดึงดูดความสนใจได้ดีเสมอ ครับเพราะเป็นจุดที่ผู้ใช้งานจะเริ่มอ่านที่นั่นเป็นส่วนใหญ่
- โฆษณาอะไรก็ตามที่วางอยู่ใกล้เนื้อหาที่เด่นที่สุด จะถูกอ่านเสมอ ให้ลองนึกถึงโฆษณาที่แป่ะตามโถปัสสาวะชายครับ มันจะถูกอ่านเสมอเพราะโฆษณาแปะอยู่ใกล้กับเนื้อหาที่คุณผู้ชายสนใจที่สุดขณะนั้นครับ
- ผู้ใช้งานส่วนใหญ่อ่านโฆษณาที่เป็นตัวหนังสือ มากกว่า โฆษณาที่เป็นรูปภาพ อาจจะฟังไม่สมเหตุสมผลแต่ไม่ว่าโฆษณาใดใด เมื่อผู้ใช้มองไปแล้ว ผู้ใช้จะมองหาตัวหนังสือที่เขียนรายละเอียดก่อนเลยเป็นอันดับแรก รูปภาพอาจจะช่วยดึงดูดสายตาเพื่อให้ไปสนใจได้นิดหน่อยครับผม
- สื่อมัลติมิเดียเรียกความสนใจได้มากกว่า การเขียนอธิบายด้วยตัวหนังสือเปล่า ๆ อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ ถ้าคุณอธิบายด้วยข้อความเปล่า ๆ เชย ๆ ไม่มีสื่ออื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลยอาจจะทำใหไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานเลย เพราะฉะนั้นควรวางแผนงานออกแบบให้ดีถ้าจำเป็นจะต้องนำเสนอเนื้อหาที่ดูยุ่งยาก แปลกใหม่ สำหรับผู้ใช้งาน ควรใช้มัลติมีเดียช่วยครับ
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะมีผลกับการกรอกสายตาของผู้เข้าชมใช้งานเว็บไซต์ครับเพราะฉะนั้นจำเป็นมากที่จะต้องเข้าใจ และ ศึกษาหาข้อมูลกับผู้ใช้งานก่อน และ หลัง ที่เราทำงานออกแบบ หวังไว้ว่าคงจะเป็นประโยชน์ครับผม
ผมฝากเอาไว้สักนิดว่า การออกแบบหาใช่สักแต่ ยัดเยียด
สิ่งที่ตนเองเรียกว่า ความสวยงาม
(แต่มันเป็นความสวยงามส่วนตัว) ตามแบบฉบับ รสนิยมส่วนตัว
ไปให้คนอื่น ๆ ลูกค้า หรือ ตลอดจนผู้ใช้งาน ได้บริโภค งานออกแบบ นั้นเพื่อปากท้อง
ส่วน งานศิลปะนั้น เพื่อปรนเปรอ ความต้องการของจิตใจเราเอง
แต่จะเอาสิ่งที่ใจตนเองคิดว่าดีไปยัดเยียด หรือ หลอกขายเขาก็ใช่ที่ จริงไหมครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับฟังความเห็น ผู้ใช้งาน ลูกค้าบ้างเพื่อการทำงาน และ ออกแบบงานได้ตรงตามเป้าหมายมากที่สุด ถ้าบางอย่างมันเป็นเรื่องที่ ไม่ได้
จริง ๆ ก็ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ให้ความรู้ และ เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และ ผู้ใช้งานกันไปครับ ควรมีเหตุ และ ผล พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจ ในกรณีที่ลูกค้าของท่าน ไม่เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของเขาจริง ๆ จะก้มหน้าก้มตาทำไป ก็ใช่เรื่องอีก จะโดนด่าตามหลังกันให้เสียคน เสียชื่อ กันเสียเปล่า ๆ
4 Responses to เล็กน้อยเกี่ยวกับ Eye Tracking