สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผมเจออยู่ในตอนนี้ คืออาการ มึนงง คล้ายๆ กับการหลงทาง เพราะอะไรนั่นหรือ เพราะ การเขียนเว็บนี่แหละครับ มันไม่เหมือนเดิม มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ไม่เหมือนโดยสิ้นเชิง “ใครๆ ก็ทำเว็บได้” คำๆ นี้คุ้นๆ เหมือนผมเคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อน แต่ อยากจะเพิ่มเติมคำนี้เข้าไปด้วย “ใครๆ ก็ควรเข้าใจในหลักการทำเว็บพื้นฐาน& อยากให้เข้าใจ เข้าใจจริงๆ ก่อน ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำเว็บสักเว็บ
เคยลองเขียนหน้าเว็บแบบ XHTML 1.1 แล้วเกิดข้อผิดพลาดจนหน้าเว็บไม่แสดงผลบ้างไหมครับ หรือ แสดงผล แต่ผิดเพี้ยน ความหงุดหงิด งุ่นง่านเกิดขึ้นกับผมทุกครั้งที่คิดอยากจะเขียนเว็บแบบ XHTML 1.1 แต่ในชีวิตจริง ถ้าหากคุณยังทำงานกับโปรแกรมเมอร์ที่ยังไม่เข้าใจว่า XHTML 1.1 กับ HTML 4.01 มันต่างกันอย่างไรหละก็ บอกคำเดียวครับ ว่าคุณ ไม่ต้องไปแสดงกล้ามดากอะไรกับเขาเหล่านั้นอีกแล้ว หยิบยื่น XHTML 1.0 Transitional ให้เขาเหล่านั้นก็พอ โลกแห่งความฝันแตกต่างกับความเป็นจริงฉันใด ก็ฉันนั้น โลกแห่งธุรกิจและความสามารถในการพัฒนาตัวตน ของคนทำงานมักไม่เท่ากันเสมอ คำแนะนำคือ เก็บความขมขื่นเอาไว้คนเดียว แล้วไปเขียนระบายความรู้ กู้ความเครียดใน Web Log ของตัวเองซะ
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานี้ และช่วงสองเดือนที่ผมหายจากหน้าเว็บไทยซีเอสเอสไป ผมยอมรับว่า ชีวิตทำให้ผมเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น เอาเปรียบสังคมมากยิ่งขึ้น เห็นใจคนอื่นน้อยลง ปล่อยวาง (ทำใจ) มากยิ่งขึ้น ยิ้ม มากยิ่งขึ้น และน้ำหนักลดลง ดูเหมือนว่า ผมจะออกแนวเลวร้ายกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต ใช่เลย ผมไม่ใช่ พร อันทะ คนเดิมที่พร้อมจะเอาความรู้คู่คุณธรรม นำวินัยใฝ่ความดี ศรีธัญญา ในเรื่องการเขียน CSS XHTML Webstandards หรือการทำเว็บให้ได้ Accessibility สูงๆ มาเผยแพร่ อย่างขาวสะขาดมาดอีสานอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ อีกแล้ว แต่จะเป็นอะไรไปนั้น ถ้าไม่เบื่อ ไม่เกลียดขี้หน้า ด่าพ่อ ล้อแม่กันไปก่อนก็คงยังตามอ่านกันเรื่อยๆ ได้ อีกไม่นานนี้ ผมจะรวบรวมข้อมูล บทความงานเขียนเก่าๆ มาปรับปรุงเพื่อให้ถูกต้อง สมบูรณ์ แล้วก็ เชิญคุณๆ ท่านๆ โหลดไปอ่าน หัดเขียนเว็บแบบ XHTML CSS กันเลย ไม่ต้องซื้อไม่ต้องขาย แค่เพียงอย่าโหลดไปเก็บไว้แสดงว่าตนมี แต่ให้อ่านด้วย จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
เกริ่นกันมาซะยาว อาจจะเป็นสาเหตุจากการที่ผม ปิดการเขียนบทความในส่วนของ เว็บมาสเตอร์ ไป ก็เลยขอแจมๆ ลงในเนื้อหาส่วนอื่นบ้าง ประปราย เริ่มกันด้วยเรื่องราวที่ว่า ทำไมมันต้องเป็น XHTML 1.0 Strict คนที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร กลับไปอ่านเรื่อง Doctype หรือ ประเภทของเอกสารก่อนนะครับ แล้วถ้าจะถามว่า ทำไมต้องมี Doctype ในหน้าเว็บด้วย ก็ตอบสั้นๆ ครับ ว่า “ทำไม เราต้องถือบัตประชาชนด้วย” ออกอาการเดียวกัน
มีคนบอกว่า ถ้าหากประกาศ Doctype เป็นอะไรแล้วไม่สามารถเขียน XHTML ให้ถูกตามหลักมาตรฐานของ Doctype นั่น ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แน่นอน คำเตือนนี้มีอยู่ตามเว็บที่อ้างอิง การเขียนเว็บให้ได้มาตรฐานสากลตามข้อกำหนดของ W3C ทั่วๆ ไป เหตุเพราะว่า User Agents สมัยใหม่ต่างๆ ใช้ Engine หลักในการเข้าถึงหน้าเว็บด้วยการ อ้างอิง DTD ของหน้าเอกสารนั้นๆ เป็นสำคัญ (ยกเว้น บราวเซอร์ยักษ์ใหญ่ บางตัวที่อ่านดะแม้กระทะข้างทาง ด้วย Engine หลัก ลอดช่องรวมมิตรถ้วยเดียว)
ถามว่า ทำไมต้องเขียนให้ได้ XHTML 1.0 Strict ก่อนด้วยหละ คำตอบส่วนตัวของผม จากประสบการณ์ที่เคยมีมา ถึงแม้ไม่มากมาย พอตอบได้ว่า
- Xhtml 1.0 Strict ช่วยเราได้ในเรื่องของการพัฒนาพื้นฐานการเขียน และทำความเข้าใจ โครงสร้างภาษาและ Tags ใหม่ๆ ของ xhtml ได้ชัดเจนมากกว่าการเขียน แบบ xhtml 1.0 Transitional เพราะ 1.0 strict ไม่อนุญาตให้เราเขียน html 4 เข้ามาบนเปในส่วนของการเขียนโครงสร้างภาษา คือไม่อณุญาตให้เขียนคำสั่งการแสดงผลด้านความสวยงามใดๆ ด้วยภาษา html นั่นเอง ซึ่งหัวใจหลักของ XHTML และ CSS คือการแยกการทำงานออกจากกัน ถือเป็นคำตอบที่น่าจะเห็นภาพได้มากมายที่สุดในตอนนี้
- เมื่อเราถูกบังคับไม่ให้หวนย้อนกลับไปหา ภาษาเก่าอย่าง html 4 แล้ว สิ่งต่อไปที่เราจะต้องตั้งจิตนะโม สังโฆ คือการเรียนรู้โครงสร้างใหม่ของคำว่า XHTML คือการเปิดและปิดอย่างถูกวิธี และเลือกใช้ Tags ให้ถูกต้องตามโครงสร้างของการนำเสนอข้อมูลตามข้อกำหนดของภาษา xhtml เช่น Text ทุกตัว ต้องอยู่ใน Element ที่อยู่ในตระกูลของ Text Module การปรับเปลี่ยน คุณค่าของบาง Elements เพื่อให้ความหมายต่างไป
- ไม่เท่านั้น สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไปยังเหล่าเทพโปรแกรมเมอร์ทั้งหลาย ขอให้เรียนรู้ข้อห้ามและข้อ ควร ของ XHTML 1.0 Strict ด้วยนะครับ ในเรื่องของการเขียนโปรแกรม เช่น ห้ามส่ง id (ตัวภาษาอังกฤษ ตัวไอกับตัวดี ติดกันไปตามลิงค์ใดๆ) ไปใน แอดเดรสบาร์ ห้ามใช้ (’) ซิงเกิลโคด ในการเขียนโปรแกรม ให้มาใช้ ( ” ) ดับเบิลโคดหรือ เครื่องหมายฟันหนูแทน อักขระพิเศษทั้งหลาย ควรหันมาใช้ค่ารหัสตามที่มาตรฐานสากลระบุเอาไว้ เครื่องหมาย & ก็เปลี่ยนมาใช้ & แทน เหล่านี้ เป็นต้น
- ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างบน ขึ้นอยู่กับว่า เราตรวจสอบการเขียนหน้าเว็บของเรากับเครื่องมือตรวจสอบ ทั้งหลาย ตลอดเวลาหรือเปล่า
สำหรับ XHTML 1.0 Strict แล้ว ยังเป็นยาขม สำหรับเว็บไซท์ ใหญ่ๆ ทั้งหลายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานที่ ธุรกิจต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง และทำงานแข่งขันกับเวลา ผสมกับ ความรู้ความสามารถในระดับต้นของการเรียนรู้และการทำงานในเรื่องใหม่กับ เทคโนโลยีเหล่านี้ ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แม้ว่าจะไม่น่าให้อภัย แต่ ถ้าหากเว็บไซท์ แสดงผลออกมาได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็คงไม่ต้องมาว่าอะไรกันอีกในเรื่องการทำงาน แต่กลับมามองในเรื่องของคนทำงาน คำถามที่ค้างคาใจเหล่านี้ คงเป็นคำถามของคนทำงานเองว่า จะพัฒนาตัวเองอย่างไรต่อไปดี เพื่อให้ของใหม่ๆ เหล่านี้ มาอยู่ในเส้นเลือดและเป็นความถนัดชำนิ ชำนาญ อย่างเรื่องราวอื่นๆ ที่ตนเองเป็นอยู่ คำตอบคือ งานชิ้นต่อไป และการไม่ยอมอยู่กับที่ของตัวเราเองนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด
ไม่ใช่แค่นั้น XHTML 1.0 Strict ส่วนใหญ่ ยืนอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างภาษาใหม่ แล้ว สิ่งต่อไปที่เราควรจะศึกษาเพิ่มเติมและนำมาใช้ก่อนบ้าง เมื่อโอกาสมาถึงคือ เรื่องของ XHTML 2.0 สิ่งที่สามารถนำเอามาใช้ได้เลยในตอนนี้ของ XHTML 2.0 คือ แนวคิด ซึ่ง แนวคิดคือ กรอบที่ต้องถือปฏิบัติ นั่นเอง ถึงแม้ว่าเรื่องราวบางอย่าง XHTML 1.0 Strict หรือ XHTML 1.1 ยังคงอนุญาตให้ทำ แต่เมื่อมองไปถึง XHTML 2.0 ที่จะหลุดออกมาอย่างเต็มตัวในเร็ววันนี้แล้ว แทบจะไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะมาคัดค้านการเรื่องที่เราจะไม่สนใจศึกษา ภาษาใหม่แต่เรื่องเก่า อันนี้เลย
ง่ายๆ กับการ เลิกใช้ br ไม่ใช้ hr ไม่ใช้ b ไม่ใช้ I เหล่านี้ ถูกถอดทิ้งแบบไม่เหลือใย ใน xhtml 2.0 เพราะเรื่องโครงสร้างของการแสดงความหมาย พร้อมๆ กันกับการ ปรับเปลี่ยน โยกย้าย แบ่งกลุ่มและให้การจำกัดความของ Element ขึ้นมาใหม่ เช่นการที่เราไม่สามารถนำ ตัวหนังสือใดๆ เข้าไปใส่ใน Block Element ที่ไม่ได้อยู่ใน Text Module ได้ หนึ่งในนั้นคือ เราไม่สามารถเขียน เนื้อหาเข้าไปใน <div> ได้ตรงๆ โดยไม่ถูกครอบด้วย <p>, <h1>-<h6> หรือ Text Module อื่นๆ เพราะว่า ใน XHTML 2.0 <div> ถูกจัดเอาไว้ให้ใช้สำหรับแบ่งส่วนโครงสร้างของหน้าเว็บเท่านั้น การทำความรู้จักกับ XHTML Tags ใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน เช่น <abbr>, <q>, <blockquote> และอื่นๆ ช่วยให้เรามี Tags XHTML ในการทำงานให้เลือกใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะเป็นแค่เพียงส่วนเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ สำหรับชีวิตการทำเว็บของเหล่าพลพรรค XHTML CSS Designer ทั้งหลาย แม้ว่าเมืองไทยเรามันยังไม่แพร่หลาย แต่จักเรียนรู้และใช้บ้างก็ได้ไม่เสียหลาย “เพื่อประโยชน์ต่อท่านเอง” คือคำตอบในท้ายที่สุด ไม่อยากให้มีเหตุการณ์ จะทำก็ต่อเมื่อมันมาถึง โดยไม่มีการเตรียมตัวต้อนรับการมาอย่างอบอุ่น เกิดขึ้น
15 Responses to XHTML 1.0 Strict ความก้ำกึ่ง คาราคาซัง ที่ต้องเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตาม