ช่วงเวลายุ่ง ๆ กับการประกวดเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ประจำปี 2553 ตอนที่ 2
จาก คราวที่แล้ว ที่ผมได้บ่นไปเรื่อยเกี่ยวกับช่วงเวลาที่พัฒนาเว็บไซต์สำหรับ การประกวดเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ประจำปี 2553 นั้น ณ ตอนนี้เว็บไซต์ที่ผมได้พัฒนาก็ได้เสร็จสมบูรณ์พูลสุขแล้ว จึงอยากจะนำเว็บไซต์ที่ตัวเองพัฒนานั้นมาแบ่งปันให้ทุกท่านที่สนใจในเรื่อง Web Accessibility ได้รับชมกันครับ
รายละเอียดคร่าว ๆ เกี่ยวกับผลงาน
ที่มา : เป็นการนำเว็บไซต์ www.themagicblogs.com มาพัฒนาต่อให้มีความเป็น Web Accessibility มากขึ้น
เทคนิคและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ : พัฒนาด้วย html5, css3, jquery
การตรวจสอบมาตรฐาน : ผ่านมาตรฐาน HTML5 และ WCAG 2.0 AAA
เว็บบราวเซอร์ : เว็บบราวเซอร์ตระกูล webkit (Chrome และ Safari) เพราะว่าสามารถแสดงความสามารถของ CSS3 ได้เยอะที่สุดครับ แต่แนะนำให้เปิดด้วย Safari นะครับ เพราะใน Chrome แสดงผล fontface ภาษาไทยได้ไม่ดีเท่าไหร่
การแสดงผลรูปแบบต่าง ๆ : เนื่องจากบ้าพลังเกินเหตุ ผมจึงมีการแสดงผลให้เลือกหลายแบบหน่อย ไล่ไปตั้งแต่ การแสดงผลปกติ, สำหรับสายตาเลือนราง, สำหรับมือถือ และปริ้นท์ (ในส่วนนี้กติกาไม่ได้บังคับหรือเจาะจงว่า “ควรจะมีรูปแบบอะไรบ้าง” จึงอุปมาเอาเองตามความเหมาะสมของเวลาที่จะเอื้ออำนวย
ผู้พิการทางการมองเห็น (คนตาบอดและสายตาเลือนราง) เข้าถึงข้อมูลได้ดีแค่ไหน ?
เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาก เพราะการประกวดนี้เน้นการเข้าถึงผู้พิการทางการมองเห็นเป็นหลัก เนื่องจากว่ามีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลมากกว่าประเภทอื่น (ทางการได้ยิน, ทางการเคลื่อนไหวและอื่น ๆ) สิ่งที่เพิ่มเข้าไปจะมีดังนี้
- tag ถูกต้องตามความหมาย (อันนี้ช่วยได้เยอะ)
- skip navigation ใช้สำหรับกระโดดข้ามไปยังเนื้อหาบริเวณต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อที่โปรแกรมอ่านหน้าจอของคนตาบอดจะได้ไม่ต้องอ่านข้อมูลเดิมซ้ำ ๆ ในกรณีที่ลิ้งค์ไปหน้าอื่น (ไม่มีนี่แย่เลย)
- accesskey เป็นคีย์ลัดซึ่งวิธีการใช้งานขึ้นอยู่กับบราวเซอร์นั้น ๆ เพราะแต่ละบราวเซอร์กดไม่เหมือนกัน ใช้เฉพาะลิ้งค์ใน skip navigation เพราะได้รับคำแนะนำมาว่าไม่ต้องมีเยอะ มีเยอะไปคนพิการก็ไม่ได้ใช้ เพราะแค่จะจำคีย์ในการใช้งานโปรแกรมอ่านหน้าจอก็เยอะแล้ว ไหนจะต้องมาจำคีย์ของ accesskey อีก อีกเหตุผลนึงที่ไม่ควรมี accesskey เยอะก็คือ ถ้าเรากำหนด accesskey เป็นตัวหนังสือหรือตัวเลขบางอย่าง มันจะไปชนกับคีย์ของโปรแกรมอ่านหน้าจอ
- font size สามารถเปลี่ยนขนาด font size ได้เรื่อย ๆ ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับคนสายตาเลือนรางที่มองเห็นไม่ค่อยชัด รวมไปถึงผู้สูงอายุด้วย เว็บไซต์บางเว็บส่วนมากถ้าเปลี่ยนขนาดตัวอักษรได้ก็จะมีตัวอักษรให้เลือก 3 ระดับคือ ปกติ ใหญ่ ใหญ่ที่สุด(ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเว็บไซต์ไทยจะใช้ตัวอักษร ก) ปัญหาจึงไปตกอยู่กับผู้ใช้บางคนที่เลือกระดับ “ใหญ่ที่สุด” แต่ยังมองไม่เห็น ฟังค์ชั่นการเปลี่ยนขนาดตัวอักษรที่ดีคือ ไม่ควร fix ว่าจะเปลี่ยนได้เท่าไหร่ แค่ไหน ผู้ใช้งานแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ ควรจะทำให้ยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดกี่เท่าก็ได้ จะดีที่สุด
- เปลี่ยนสีตัวอักษรและพื้นหลังสำหรับคนสายตาเลือนราง ปกติเว็บทั่วไป(ตัวอักษรสีดำ พื้นหลังสีขาว) ก็ถือว่ามีสีที่ตัดกัน มองเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วนะครับ แต่ที่มันไม่เหมาะก็เป็นเพราะว่าพื้นหลังที่เป็นสีขาวนั้นเป็นสีสว่างครับ แสงจ้าเกินไปทำให้มองเห็นตัวอักษรสีทึบได้ไม่ชัด จึงต้องสลับกันครับ สลับเป็นทำให้พื้นหลังสีทึบและตัวอักษรสีสว่างแทน แต่ก็ไม่ควรเปลี่ยนสีตามใจชอบนะครับ ในผลงานของผมจะใช้สีพื้นหลังสีดำ ตัวอักษรสีขาว ลิ้งค์สีฟ้านะครับ ซึ่งจะเหมือนกับ เว็บไซต์สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จะทำอะไรให้ใครสะดวกก็ถามเค้าก่อนนะครับว่าเค้าชอบแบบไหน