อยากเปลี่ยนแนว มาทำ UX

In the long history of humankind (and animal kind, too) those who learned to collaborate and improvise most effectively have prevailed.
– Charles Darwin

ผมหายไปนานและไม่ได้เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับ CSS HTML อีกเลยตลอด 20 เดือนที่ผ่านมา มีโผล่มาบ้างก็เป็นช่วงแวะเวียนมาเพราะอาการเมาค้าง

อาจเป็นเพราะการงานที่เปลี่ยนไป ผมต้องทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่มานั่งเขียน CSS HTML หรือ ไปหา Plug-in JavaScript มาใช้งาน ผมหันมารับผิดชอบงานในเรื่องของ UX/UI รวมไปถึง Front-end หรือแม้กระทั่งต้องคอยตอบคำถามประเภทลด http request อีกสัก 3 อันได้ไหม หรือ ทำให้หน้าเว็บโดยรวมโหลดเร็วขึ้นกว่าเดิมอีก 500 มิลลิเซกกัน ได้ไหม หรือ พื้นหลังตรงนั้นเอาออกไปเลย มีอยู่มันก็ไม่ได้ช่วยให้ user ยอมจ่ายเงินเพิ่มอีก 10 บาทหรอก Front-end เองทั้งในเรื่อง Performance ของเว็บก็มีความเกี่ยวพันกับประสบการณ์ของผู้ใช้ทั้งหมด

ผมจึงหายไป หายไปเพื่อที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เข้าใจอะไรใหม่ๆ ระหว่างทาง มันไม่ใช่แค่เรื่องงาน มันคือเรื่องวิธีการทำงาน ทีมงาน คือทุกอย่างที่ประกอบร่างกันจนออกมาเป็น Product หนึ่งชิ้นที่ไม่มีวันจะเสร็จสมบูรณ์ได้ Design is Never done มันก็เหมือนการเลี้ยงควายแหละครับ ถ้าเราไม่ขายไปหรือมันไม่ตาย เราก็ต้องเอามันออกจากคอกไปกินหญ้าทุกวัน ตกเย็นก็เอากลับบ้าน

คนเราไม่สามารถที่จะเขียนอะไรในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ได้หรอก จะเอาอะไรมาเขียนหละ จริงๆ มันคือการเขียนอะไรก็ตามที่อยากเขียน ความอยากนั้นก็เกิดมาจากสิ่งที่รู้และเข้าใจ บางครั้งและบ่อยครั้งมันก็เกิดจากการที่เราคิดว่าเรารู้ แบบนั้นก็สามารถเขียนได้เหมือนกัน ในทีมที่ออฟฟิศเรามีคำเรียกอาการอย่างหลังว่า “CSS” หรือ Candle Sitting Study หรือพวก “นั่งเทียนเขียน” มันไม่ได้เลวร้าย อย่างน้อยมันก็เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เราเริ่มทำอะไรสักอย่าง เพืื่อที่จะนำไปสู่อะไรสักอย่าง เอ่อ… ที่ดี บางทีก็เป็นการทำร้ายตัวเอง

กว่าสองปีที่ผมได้เริ่มจับต้องการทำ UX จริงๆ จังๆ แต่ก็ยังเป็นการทำ UX ในแบบฉบับของเรา เพราะว่าเราทำเพื่อผู้ใช้งานของเรา ไม่มีความจำเป็นอันใดที่ต้องเราต้องทำตามสิ่งที่คนอื่นบอก หรือตามหนังสือต่างๆ ที่เขาแนะนำมาร้อยเปอร์เซ็นเป๊ะ การปรับปรุงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในการทำงานของเราเองถือเป็นทางเลือกที่ง่ายในการเริ่มต้นเรียนรู้พร้อมๆ กันเป็นทีม UX ไม่ใช่แค่ทำ Wireframe ทุกคนก็รู้ การทำ Wireframe เป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาขั้นกลางระหว่าง UI Designer กับ UXer ทุกวันนี้สำหรับคนที่สามารถเข้าใจทั้ง UX ทำได้ทั้ง UI สามารถออกแบบและนำออกไป Test ได้อย่างรวดเร็วเพื่อประหยัดเวลาได้อยู่แล้ว แล้วเราจะหาคนอย่างนั้นได้จากที่ไหนหละ

ผมมีความตั้งใจเมื่อหลายเดือนก่อน ว่าผมอยากจะบอกเล่า บันทึกเรื่องราวการเข้าสู่โลกแปลกประหลาดที่ได้พบเจอเอาไว้ใน ThaiCSS แห่งนี้ แต่ก็อย่างว่า ชีวิตมันมักไม่ได้เป็นไปตามที่เราวางแผนเอาไว้เท่าไหร่หรอก เมื่อไหร่ก็เมื่อนัั้นแหละ ตอนนี้ก็คงถึงเวลาที่จะเอาเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเขียนสู่กันฟังแล้ว

เมืองไทยตอนนี้ คนที่มีความรู้เรื่อง UX ยังขาดตลาด คนเก่งๆ ก็ขาดแคลน แม้นมีเงินก็ซื้อไม่ได้ เนื้อหา ตัวอย่าง วิธีการที่เรานักพัฒนาชาวไทยทำกันเองจริงๆ จังๆ กับผู้ใช้คนไทยยังมีน้อย ผมจึงอยากจะเอาสิ่งที่ได้ทำเอาไว้ตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมานั้นมาเขียน บางเรื่องหลายๆ ท่านอาจจะนำไปปรับใช้ต่อได้ แต่อย่าเลียนแบบ จงขโมยไปและทำให้มันดีขึ้น UX Designer ดีๆ ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง

มารอบนี้ พร้อมกับชีวิตที่เปลี่ยนไป ผมขอวางแผนประเด็นเรื่องราวที่จะเขียนเอาไว้เสียแต่เนิ่นๆ ว่าสามช่ารอบนี้ผมจะเล่าเรื่องอะไรบ้าง  ถ้าเป็นไปได้ผมจะปล่อยสองถึงสามวันต่อหนึ่งเรื่อง ให้มันจบทั้ง 16 เรื่องในรอบเดียว มันจะได้ต่อเนื่องกันแล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปคิดถึงเรื่องอื่น

ข้างล่างนี้คือหัวข้อที่อยากจะเขียน

  1. UX คืออะไรและอะไรคือ UX ที่ดีที่สุด
    ออกแบบให้มนุษย์ (คนอื่นๆ) อะไรที่ง่ายเกินไปคนก็ไม่ใช้ อะไรที่ยากเกินไปคนก็ไม่สน)
  2. ทีมที่ดี สร้าง Product ที่ดี
    ยังจำได้ไหมเมื่อครั้งที่เราตัดสินใจเริ่มแรกที่อยากจะทำเว็บอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง ในห้วงนั้นไม่มีใครเลยมาคอยบอกเราว่าต้องทำอะไร เราคิดเองทำเองหมด แค่เรารู้ว่าเราต้องการเดินไปไหน เราก็สามารถทำมันสำเร็จจนได้ การทำงานเป็นทีมก็ไม่ได้แตกต่างกัน จะทำยังไงให้ Developer หรือ Engineer ที่มีอยู่สามารถสร้างผลงานออกมาได้ดี เป็นสิ่งที่คนที่เป็นผู้นำต้องสร้างให้ได้ แค่คอยชี้ทางโดยที่ไม่ต้องบอกว่าต้องทำยังไงหรือต้องทำอะไร ถ้าทีมเข้าใจตรงกันแล้ว เป้าหมายสุดท้ายมันก็จะเป็นอันเดียวกันเอง ปล่อยให้ทีมเป็นคนคิดและทดลอง ผิดพลาดถือเป็นบทเรียน มันหมดยุคแล้วสำหรับการที่หัวหน้าต้องมาคอยตรวจงานแล้วก็สั่งปรับแก้เพราะมันไม่ตรงใจตัวเอง สำหรับการสร้างทีม
  3. Be Agile
    บางคนอาจจะสงสัยว่า Agile นี่มันเป็นญาติกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่มั่นคงหรือเปล่า “มึงจะเปลี่ยนอะไรบ่อยนักหนา เอะอะเปลี่ยนอีกแล้ว ชีวิตการงานกูจะเป็นยังไงวะเนี่ย” อยากจะบอกว่าเรื่องของความมั่นคงหรือไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอาการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาของ Agile ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าอาชีพเราไม่มั่นคง หัวหน้าเราเปลี่ยนโน่นนี่นั่นบ่อย มันเกิดมาจากความรู้สึกของเราเองต่างหาก นั่นแสดงว่าเรายังไม่ได้เข้าใจหลักการของมันจริงๆ บางครั้งอาจเป็นเพราะว่าเราต้องการทำของ “ชิ้นใหญ่” จนเกินไปจึงใช้เวลานานเลยไม่ได้ส่งมอบอะไรให้เจ้าของเงินดูเรื่อยๆ ผลสุดท้ายความรู้สึกนั้นก็เด้งกลับมาเข้าเราเอง ทำให้เรารู้สึกว่าทำอะไรไม่เสร็จแล้วก็ถูกเปลี่ยนอีกแล้ว ลองมาเป็น “ทำเล็กๆ ส่งมอบบ่อยๆ” ได้ไหม
  4. Fail Fast, Learn Fast และ No Blame
    เหี้ยยยยยยยย หน้าขาวอีกแล้ว ใครเอาแป้งไปทาหน้าเว็บวะ ณ ห้วงนั้นฝูงลิงต่างกระโดดโลดเต้นเพราะมีคน Deploy งานขึ้นสู่ Production แล้วเว็บเจ๊ง! Chaos Monkey เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว จงอย่าตกใจเพราะแค่เดินออกไป Tesco Lutus แล้วเราก็​ Rollback อะไรที่มันสามารถเกิดขึ้นได้ มันก็จะเกิดอยู่วันยังค่ำ เว็บล่ม เว็บเดี้ยง พวกปอบเข้าก็จะมักหยิบผิดบร๊านซ์ขึ้นของจริง ของอย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้วเราไม่สามารถไปเปลี่ยนไม่ให้มันเกิดได้ ทำได้คือแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก เพจวิวหายไปสักสองสามล้านก็จงถือเป็นเรื่องธรรมดา ปล่อยให้หัวหน้าเขาไปคุยกับเจ้าของเงินเอง เรียนรู้จากความผิดพลาดคือสิ่งที่ดี คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดมักจะยึดติดและไม่ค่อยมีไอเดียหรืออะไรใหม่ๆ ออกมานำเสนอ
  5. การวิพากย์ วิจารณ์อย่างมีคุณภาพ
    มันมีอยู่ทุกที่ครับ ไอ้พวก “ตัวดับฝันในตำนาน” คือพวกที่ไม่ช่วยห่าอะไรแล้วยังบ่นอีก เราจะจัดการกับคนพวกนี้ยังไงค่อยมาว่ากัน
  6. ใครๆ ก็ทำ UX ได้
    ก็บอกแล้วว่าของมันหายาก แทนที่จะมัวนั่งบ่นว่าหายาก งั้นเปลี่ยนเป็นจะทำให้คนในทีมที่สนใจอยากจะร่วมทำ UX เนี่ยเข้าใจหลักการและทำออกมาได้ยังไงดีกว่า หายากนักใช่ไหม สร้างเองแม่มเลย
  7. เตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ UX Mode
    ก่อนจะเริ่มทำ UX เราควรมีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและหนังสือที่ต้องอ่าน ความรู้ข้างนอกนั่นมีหลากหลายถ้ามัวแต่รอให้คนอื่นมาบอกว่าต้องทำยังไงมันก็ไม่ใช่เรื่อง
  8. Think Mobile
    ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้มือถือ จอเล็กๆ แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้นเพราะเราเองชอบเอาแนวคิดการออกแบบใน Desktop เข้ามาใส่ใน Mobile ก็ไม่ใช่ง่ายๆ เราอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์กันมา 20 กว่าปี จะให้ลืมกันไปเลยก็กะไรอยู่ มือถือมันเพิ่งมาห้าหกปีเองนี่นา
  9. User first, UCD และ UCE
    กระบวนการหาทางออกให้กับงานโดยเน้น User เป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะเอามาใช้ในงานออกแบบ การกำหนด Persona ไม่ให้เราไขว้เขวว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น ทำไปให้ใคร
  10. Ask the right question และตั้ง Metrics ให้ถูกต้อง
    ตั้งคำถามผิด ชีวิตบัดซบ” หนมจีบ ซาละเปาเพิ่มไหมคะ เถียงกันอยู่ได้เรื่องการ Varified สมาชิกด้วย E-mail แล้วบังเอิญคนหนึ่งในวงก็โพล่งขึ้นมา “ป้าผมก็อยากใช้นะครับ Application นี้ แต่ป้าผมไม่รู้ว่า E-mail คืออะไรแล้วป้าผมจะใช้มันได้ยังไง
  11. User goals VS Business goals
    UXer บางคนก็มั่นใจในงานของตัวเองมาก นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งหรือทุกครั้งถ้าเรายังอยู่ในระบบธุรกิจ ไม่ได้ทำเว็บเพื่อการกุศล มุมมองทาง Business ย่อมมีส่วนเข้ามาพัวพันกับงานอย่างที่เราไม่สามารถแยกมันออกจากกันได้ เพราะฉะนั้นการผสมผสานระหว่าง User กับ Business ที่ดี ย่อมทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างสวัสดิการ Marketing Team ถือเป็นบุคคลที่เราต้องตีตัวให้สนิทเข้าไว้ อย่าพยายามไปเป็นศัตรูกับเขาโดยไม่จำเป็น ชีวิตมึงอาจจะบรรลัยได้
  12. Design studio และ Low-fidelity กับ Hi-fidelity
    Lean UX ไหมพี่ 3 โลร้อย ถ้าซื้อโลเดียว 30 บาทครับ Low-fidelity เหมาะกับงานแบบไหน Hi-fidelity เหมาะกับงานแบบไหน เราเสียเวลากับกระบวนการที่ไม่จำเป็นอยู่หรือไม่ เราจะผลิต Prototype ไป Test กับใคร เราตั้งคำถามแบบไหน เราอยากจะได้คำตอบแบบไหน หรือเรากำลังทำในสิ่งที่เกินพอดีอยู่หรือเปล่าและจงจำไว้ The Great Artists Steal
  13. Offline Test VS Online Test
    ปริมาณกับคุณภาพจะเอาอะไรเป็นหลักและเราจะใช้อะไรเป็นช่วยตัดสินใจในการเลือกใช้
  14. Get out of the building : ออกไปข้างใน
    ออกไปพบปะผู้คนบ้าง เจอคนจริงๆ ถามเขาจริงๆ ไม่ใช่ว่าการนำกลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมทดสอบ (Participant) เข้ามาใน Lab หรือใน office ของเรานั้นมันใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่สำหรับการเริ่มต้นแล้วนั้นถือเป็นเรื่องยากมากที่เราจะจัดหาอุปกรณ์ทางการทดลองทั้งหลายให้พร้อม เบื้องต้นการทำ Prototype แล้วเอาไป Test กับป้าที่ขายกาแฟอยู่ปากซอยที่เราสนิทถือเป็นการทำงานที่ลงทุนน้อยและช่วยให้เราฝึกออกงานภาคสนามได้เป็นอย่างดี
  15. การจัดการกับ Designer เทพๆ
    สวยดีกับใช้งานได้มันต่างกัน การเข้าใจที่มา ที่ไป Cocept ต่างๆ มันไม่ได้ยากอะไรครับ มันอยากตรงที่จะทำอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจด้วยนั่นแหละ โดยเฉพาะพวก Designer จอมมั่นทั้งหลาย มั่นใจเหลือเกินกับการออกแบบของตัวเอง คนพวกนี้มักจะมีอารมณ์หวิวๆ ไม่ชอบออกไปทำเทส  “แล้วมึงถามคนใช้งานหรือยัง” มึงออกแบบมาเนี่ย เอาไป Test ทีไรกู “เงิบแดก” ทุกที
  16. Design is Never Done
    มันไม่เคยสิ้นสุด สิ่งที่ต้องทำคือปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้คำว่า ดีที่สุด เข้ามาครอบงำ เมื่อใดก็ตามที่เรายึดติดอยู่กับของที่ดีที่สุดแล้วนั้น ชีวิตเราจะไม่เหลือช่องว่างให้พัฒนาอะไรต่อไปได้อีก เพราะมันสุดแล้ว

บางทีผมชอบทำอะไรแช่ค้างเอาไว้ อาจจะถูกมองหรือมองตัวเองว่าทำอะไรไม่เสร็จแบบเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งอันนั้นก็แล้วแต่คนมองเพราะผมถือว่ามันคือลีลาของการใช้ชีวิต ซึ่งแต่ละคนมันย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรได้ดั่งใจทั้งหมดหรอก มากที่สุดเราก็ได้แค่พยายามทำให้มันพอดี อดทนรอเพื่อที่จะได้ทำอย่างอื่นต่อไปเรื่อยๆ บางอย่างเราก็ต้องทิ้ง บางเรื่องเราก็ต้องรับไว้

ยังคงเหมือนเดิมเสมอ ThaiCSS ยังมุ่งเน้นกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผม พร อันทะ ยังคงเป็นแค่ บุรุษหน้าลาบ ที่อยากนั่งเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอมา ผมไม่ได้ทำให้ใครเป็นพิเศษ ผมทำให้ตัวเอง บางเรื่องที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา การใช้สมองช่วยจดจำไว้มันกลายเป็นสิ่งที่มากเกินไป เราไม่ต้องเอาพลังงาน หรือพื้นที่ว่างอันน้อยนิดของสมองเรามาจดจำมันไว้หรอก เขียนเอาไว้นี่แหละ แล้วค่อยกลับมาอ่านทีหลัง อะไรที่เราเคยเรียนรู้ไปแล้ว เราไม่มีทางที่จะลืมมันไปได้หรอก มันหลบซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสมองเสมอ การได้กลับมาอ่านทบทวนเรื่องราวที่บันทึกไว้ ช่วยให้เรามองเห็นอดีตที่ผ่านมาได้ดี เบียร์เย็นๆ ช่วยขับกล่อมและชี้ทางที่เราจะมุ่งไป

จงแปลกใหม่ เราเป็นเหมือนเดิมได้แต่อย่าทำแบบเดิม

มีความสุขกับการใช้ชีวิตครับ

card sorting

Back to Top

One Response to อยากเปลี่ยนแนว มาทำ UX

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to Top